ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกามีความพยายามในการเจรจาเพื่อรวมกลุ่มในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้เกิดความคืบหน้ายังมีน้อยมาก โดยในช่วงปี 1990 อเมริกาใต้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ MERCOSUR(1) และ Andean Community(2) ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจทั้งสองมีเป้าหมายที่จะให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและขยายตลาด การค้า แต่เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้อย่างมาก ทำให้การรวมกลุ่มของลาตินอเมริกามีทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น บราซิลยุติการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกา(Free-Trade Area of the Americas: FTAA) และหันไปสนับสนุนการรวมตัวของสหภาพกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (Union of South American Nations: UNASUR)(3) ในฐานะที่เป็นเวทีความร่วมมือทางด้าน การเมือง ในขณะที่เวเนซุเอลาก็สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เรียกว่า ALBA(4) ร่วมกับคิวบา และประเทศสมาชิกอื่นๆ
ความพยายามในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาในปัจจุบันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทรรศนะคติของลาตินอเมริกาจากช่วงปี 1990 เริ่มต้นจากแนวคิดของประธานาธิบดีคนก่อนของเปรู (นาย Alan Garcia Perez) ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดมาจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบตลาด มีการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และด้วยการริเริ่มของชิลี ทั้งชิลี เปรู โคลอมเบีย รวมทั้งเม็กซิโกจึงได้จัดการประชุมเพื่อวางแผนในการรวมตัวที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้มี FTA ระหว่างกันแล้ว(ยกเว้นเม็กซิโกและเปรูที่อยู่ระหว่างการเจรจา) สำหรับในระดับภูมิภาค ชิลี เปรู และเม็กซิโกเป็นสมาชิก เอเปค ซึ่งโคลอมเบียต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ในด้านการค้ากับภูมิภาคเอเชีย ชิลีและเปรูมี FTA กับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยหวังว่าจะมีความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงสินค้าของทั้ง 3 ประเทศเพื่อสนองความต้องการในการนำเข้าสินค้าของจีน โดยโคลอมเบียได้เปิดสำนักงานร่วมทางการค้ากับชิลีในภูมิภาคเอเชีย และกำลังจะทำเช่นเดียวกันนี้กับเปรู ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Humala ของเปรูกล่าวว่า จะสนับสนุนการรวมตัวกับประเทศอื่นๆ โดยไม่เลือกให้ความสำคัญกับประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเปรูมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคแรงงานของบราซิล (Brazil’s ruling workers’ Party)
ในส่วนของภาคเอกชนของทั้งสามประเทศก็มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยมีการเข้าไปประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน เช่น สายการบินแห่งชาติของชิลี (LAN Chile) มีศูนย์กลางในอเมริกาใต้อยู่ที่กรุงลิมาของเปรู บริษัท Brescia ของเปรูเป็นเจ้าของบริษัทปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในชิลี และบริษัท ISA ของโคลอมเบีย เข้าไปจัดการระบบไฟฟ้าในเปรู เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดีซานโตสของโคลอมเบียยังหาแนวทางที่จะเชื่อมต่อระบบส่งจ่ายไฟฟ้าจากเม็กซิโกไปยังชิลี และมีแผนที่จะสร้างการเชื่อมต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าในส่วนที่ยังขาดอยู่ระหว่าง 4 ประเทศ คือ เปรู ชิลี โคลอมเบีย และปานามา อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนบางกลุ่มยังมีข้อสงสัยในการรวมตัวกันเป็นตลาดร่วม เช่น นักธุรกิจเปรูเห็นว่า ปัจจุบัน ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้ามาจัดตั้งกิจการในเปรูได้แล้วอย่างเสรี และเห็นว่า แม้ว่าอุปสรรคทางการค้ากับชิลีและโคลอมเบียจะหมดไปจากการเป็นตลาดร่วม แต่เปรูก็ยังต้องการการลงทุนจากต่างชาติอีกมากในการแข่งขันกับอีก 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมองว่า การรวมกลุ่มอาจเป็นการเพิ่มอำนาจในการเจรจาเพื่อจะรวมตัวกับบราซิลให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคบางประการในการจัดตั้งตลาดร่วมระหว่าง ชิลี เปรู และโคลอมเบียที่สำคัญ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างชิลีกับเปรูซึ่งเป็นผลมาจากสงครามแปซิฟิกที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2422-2426 (ค.ศ. 1879-1883) ความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตทางทะเลซึ่งเปรูอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบให้นักการเมืองชาวเปรูบางคนคัดค้านการขายก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าให้กับชิลี และอุปสรรคด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย อยู่ห่างจากกรุงซานติอาโกของชิลีกว่า 4 พันกิโลเมตร และเอกวาดอร์มีที่ตั้งอยู่ระหว่างโคลอมเบียกับเปรูเป็นแนวเส้นตรง เป็นต้น