ฟรี
  • I30201 (Independent Study : IS1)
    เว็บไซต์การจัดการเรียนการสอนของครูมิตรสัน (บทเรียนออนไลน์) โรงเรียนเพชรพิทยาคม ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000

บทที่ 4 การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้

บทที่ 4
การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้
 
4.1 การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้
การเขียนรายงานในเชิงวิชาการให้ผู้อ่านเข้าใจ และไม่สับสน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทักษะ และอาศัยระยะเวลานานพอสมควร แม้แต่ผู้ที่มีทักษะในการทำศึกษามาอย่างดี และอย่างยาวนาน แต่ก็ใช่ว่าจะเขียนรายงานให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายได้ทุกคน ทั้ง ๆ ที่กว่าจะได้เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์สักเล่ม จะต้องแก้ไขแล้วแก้ไขอีก ทั้งในเรื่องคำผิด รูปแบบการเขียน ความคงเส้นคงวา (Consistency) ในการใช้คำ             การอภิปรายผลการศึกษา
รายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้นั้น นักเรียนจะต้องทำใจไว้ล่วงหน้าว่า จะต้องถูกอาจารย์ที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาแก้ไขปรับปรุงอย่างน้อย 2 - 3 ครั้งต่อเรื่อง ทั้งนี้เพื่อให้งานของนักเรียนที่ออกมามีคุณภาพอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
สำหรับข้อคิดเห็นสำหรับการเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้สิ่งที่นักเรียนพึงระวัง อันได้แก่
  1. ในแต่ละบทของการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ควรเขียนอรัมภบท (เกริ่นนำ) ก่อนเข้าสู่หัวข้อย่อย
  2. การอ้างอิงตารางหนึ่งตารางใดในเนื้อหา ต้องมีตารางนั้นถัดจากที่อ้างในหน้าเดียวกันนั้น        หรือหน้าถัดไป
  3. หากตารางข้อมูลที่อ้างเป็นข้อมูลทุติยภูมิที่นักเรียนค้นคว้ามา ให้อ้างอิงที่มาใต้ตารางพร้อมระบุปี พ.ศ.
  4. หากมีการอ้างอิงภาพประกอบ หรือแผนภูมิ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน โดยภาพที่ และชื่อภาพให้อยู่ใต้ภาพ
  5. ตารางที่ และชื่อตาราง ต้องอยู่ส่วนบนตาราง
  6. หากข้อมูลในตารางที่เป็นตัวเลข ต้องระบุหน่วยตรงส่วนบนตารางด้านมุมขวาของตาราง หรือในคอลัมน์ที่แสดงข้อมูลนั้น ๆ
  7. ตารางเดียวกันควรที่จัดให้อยู่ในหน้าเดียวกัน หากตารางนั้น ๆ มีความยาวมากกว่า 1 หน้ากระดาษ ก็ให้พิมพ์ต่อในหน้าถัดไป โดยบนตารางไม่ต้องพิมพ์ชื่อตารางซ้ำ โดยมีวงเล็บ
    คำว่า (ต่อ) ไว้ด้านหลังคำว่าตารางที่ เพื่อเป็นการสื่อให้เห็นว่าต่อเนื่องมาจากหน้าที่แล้ว อาทิเช่น ตาราง 1 (ต่อ)
  8. การพิมพ์ไม้ยมก (ๆ) จะต้องมีการเคาะทั้งด้านหน้า และหลังเสมอของไม้ยมก
    คือ /ๆ/  ( / หมายถึง ระยะพิมพ์ที่เว้น 1 อักษรพิมพ์)
  9. ไม่ควรมีพื้นที่ว่างของหน้ากระดาษในส่วนของเนื้อหาภายในบท อาทิเช่น ส่วนของพื้นที่ว่างใต้ตารางที่มีขนาดเล็ก และไม่สามารถนำเอาตารางอื่น ๆ มาใส่ต่อไปได้ ก็ให้นำเนื้อหาจากหน้าถัดไปมาใส่เพื่อไม่ให้มีพื้นที่ว่าง
  10. การเรียงลำดับเลขที่ตาราง หรือภาพอาจทำได้ 2 วิธี
    1. เริ่มตั้งแต่ตารางที่ หรือภาพประกอบที่ 1 2 3 ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าอ้างในบทไหน
 
  1. เรียงลำดับเลขที่ตาราง ภาพ หรือแผนภูมิ ประกอบให้เรียงลำดับ อาทิเช่น ตาราง1,ตาราง2   ไปเรื่อย ๆ หรือภาพประกอบ อาทิเช่น ภาพ1,ภาพ2 ไปเรื่อย ๆ แผนภูมิ1,แผนภูมิ2 ไปเรื่อย ๆ
  1. การเขียนตัวเลขในตาราง กรณีเป็นตัวเลขที่มีทศนิยม ตำแหน่งของจุดทศนิยมควรเหมือนกันทั้งเล่ม โดยต้องใช้ทศนิยม 1 ตำแหน่งเท่านั้น โดยต้องใช้ทั้งเล่ม
  2. ภาษาอังกฤษที่วงเล็บในเนื้อหา ให้ใช้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ อาทิเช่น (Price-Inelastic Demand), (Urban Bias), (Knowledge – Intensive Technology)  แต่ในส่วนของคำเชื่อม (Preposition) ให้ใช้อักษรตัวเล็ก อาทิเช่น in, on, under, and และจะมีการวงเล็บภาษาอังกฤษเพียงครั้งเดียวสำหรับคำ หรือข้อความต่าง ๆ ในงานทั้งเล่ม
  3. ในส่วนของการเขียนภาษาอังกฤษในรูปของประโยคนั้นให้เขียนตามหลักเกณฑ์ของการเขียนประโยคภาษาอังกฤษตามปกติ คือ ขึ้นต้นประโยคด้วยตัวอักษรตัวใหญ่เพียงตัวเดียว อาทิเช่น Marketing activities of anthurium in Songkhla Province are facing with various problems and threats.
  4.  การเขียนคำย่อที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น เมื่อมีการกล่าวถึงครั้งแรกให้เขียนคำเต็มของคำย่อนั้น ๆ ก่อนและครั้งต่อไปให้เขียนคำย่อนั้น ๆ ได้เลย อาทิเช่น (Good Agricultural Practice: GAP), (Gross Domestic Product: GDP), (Small and Medium Enterprises: SMEs)
ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ดังกล่าว แม้จะเป็นประเด็นเล็ก ๆ เป็นประเด็นปลีกย่อย แต่หากนักเรียนให้ความสำคัญและเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยความละเอียด ไม่เพียงจะเป็นการผ่อนภาระในการอ่านของอาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการที่ปรึกษาลงได้มากแล้ว นักเรียนก็จะมีโอกาสในการเรียนจบตามโปรแกรมได้มากขึ้น
 
4.2 ส่วนประกอบของการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้
ส่วนประกอบของการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเรียนอยากจะรู้ และจะต้องรู้ว่า ตั้งแต่ปกนอก เนื้อหารายงาน จนกระทั่งถึงหน้าสุดท้าย ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง       การเขียนการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ให้ใช้แนวทางการกำหนดส่วนประกอบของรายงาน ตามคู่มือการเขียนและการพิมพ์วิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาทิเช่นเดียวกัน   โดยกำหนดให้การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 5 ส่วน ดังต่อไปนี้
1. ส่วนนำ (Front Matter)
2. เนื้อหารายงาน (Text)
3. บรรณานุกรม (Bibliography)
4. ภาคผนวก (Appendix)
5. ประวัติผู้เขียน (Vitae)

เข้าดู : 87 ครั้ง